สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

เกี่ยวกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
The Federation of Thai Industries

               สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่ได้รับการยกฐานะขึ้นจากสมาคมอุตสาหกรรมไทย ที่ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2510 มาเป็นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2530 ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อุตสาหกรรม ตามพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2530 ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐที่ต้องการพัฒนาสถาบันธุรกิจภาคเอกชน ของไทยให้แข็งแกร่ง อันจะทำให้กลไกการพัฒนา ในภาคอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สามารถประสานกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติในวงการเศรษฐกิจโลก

วิสัยทัศน์

“เป็นแกนกลางเสริมสร้างความเข้มแข็ง และผลิตภาพอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของไทยให้ยั่งยืน”

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภทคือ

  • ประเภทสามัญ ซึ่งได้แก่ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เป็นนิติบุคคล และประกอบการอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วย โรงงาน ซึ่งรวมทั้ง สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม
  • ประเภทสมทบ ได้แก่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลใดๆ ที่มิใช่โรงงานอุตสาหกรรมหรือสมาคมการค้า

               สมาชิกและได้รับการจัดแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดกระจายครอบคลุมทุกภูมิภาค โดยมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นแกน เชื่อมโยงกลไกความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ผู้ประกอบการด้วย กันเอง รวมไปถึงผู้บริโภคและผู้ประกอบการอื่นๆ
               โดยมีคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่อยู่ในตำแหน่ง คราวละ 2 ปี มาจากการเลือกตั้งจำนวน 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด และ 1 ใน 3 เป็นการเลือกตั้ง จากกลุ่มอุตสาหกรรมและ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดต่างๆ คณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำหนดนโยบายและบริหารงาน ของ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประสานกับภาครัฐและต่างประเทศ วัตถุประสงค์คือพัฒนาอุตสาหกรรมไทย

สภาอุตสาหกรรมเป็นนิติบุคคลมีอำนาจหน้าที่ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด ในพระราชบัญญัติอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยดังนี้เป็นตัวแทนของผู้ประกอบอตสากรรมภาคเอกชนในการประสานนโยบายและดำเนินการกับรัฐ

  • ส่งเสริมและพัฒนาการประกอบอุตสาหกรรม
  • ศึกษาและหาทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการประกอบอุตสาหกรรม
  • ส่งเสริม สนับสนุนการศึกษา วิจัย อบรม เผยแพร่วิชาการและเทคโนโลยีเกี่ยวกับอุตสาหกรรม
  • ตรวจสอบสินค้า ออกใบรับรองแหล่งกำเนิดหรือใบรับรองคุณภาพสินค้า
  • ให้คำปรึกษาและเสนอแนะแก่รัฐบาล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรม
  • ส่งเสริมนักอุตสาหกรรมและเป็นแหล่งกลางสำหรับนักอุตสาหกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ต่อวงการอุตสาหกรรม
  • ควบคุมดูแลให้สมาชิกปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบอุตสาหกรรม
  • ปฏิบัติกิจการอื่นๆ ตามกฎหมายกำหนด

             บทบาทที่ทุกระดับเชื่อถือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้รับการยอมรับทั่วไป ในฐานะตัวแทน ภาคอุตสาหกรรม ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐบาล ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยมี บทบาทที่สำคัญดังนี้

             ร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ กรอ. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตลอดจนรัฐบาลได้วางใจให้มีผู้แทน ส.อ.ท.ในคณะอนุกรรมการ และคณะทำงานต่างๆ ในหน่วยงานราชการ จึงมีส่วนร่วมดูแล ส่งเสริมและวางแผน รวมทั้งนำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขที่สอดคล้องเหมาะสม ต่อภาครัฐบาล อันจะนำสู่การกำหนดนโยบาย หรือการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบวิธีการปฏิบัติต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ และเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโดยรวมทุกภูมิภาคของประเทศ

             สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีฐานะเท่าเทียมและประสานงานกับ องค์กรภาคธุรกิจเอกชนด้านอุตสาหกรรม ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงสามารถเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมของประเทศไทย และเป็นแกนกลาง ประสานให้เกิดความร่วมมือที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมพัฒนาธุรกิจ การค้า การลงทุน ตลอดจนปกป้องสิทธิ และความยุติธรรมที่สมาชิกและภาคอุตสาหกรรมพึงได้รับอย่างเต็มภาคภูมิทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล ได้รับมอบอำนาจจากภาครัฐให้มีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะสอดส่อง ตรวจตราดูแล ตลอดจนให้การรับรองสมาชิกและ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั่วไป เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกติกา หลักเกณฑ์ กฎ ข้อบังคับ ระเบียบและ กฎหมายที่กำหนด